บริบทชุมชน
ชุมชนบ้านวังกอง ตำบลสองห้อง อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมได้มีราษฎรอพยพจากหมู่บ้านใหญ่เส้นทางจากสองคอน – ฟากท่า เดิมทำไร่ทำสวนแรก ๆ ก็ไปกลับพอนานไปเข้าลำบากต่อการขนย้ายก็เลยนอนค้างคืนบ้าง กลับบ้าง พอนานไปก็เลยทำเป็นห้างนอนนาน ๆ จะกลับมาเยี่ยมบ้านสักครั้ง ต่อมาก็เลยอยู่กันเป็นประจำ แรก ๆ มีอยู่ด้วยกัน 5-6 หลัง เรียกว่า บ้านไร่ ต่อมาได้มีทางหมู่บ้านใหญ่ได้นัดหมายกันว่า จะมีการแข่งขันตีกลองกันตามประเพณีของหมู่บ้านสมัยก่อนและมีการแลกเปลี่ยนกันเหมือนลงแขกกัน ต่อมาได้นัดหมายกันแต่ทางหมู่บ้านเมื่อก่อนเขาได้ใช้ทางเดินเท้าไม่มีรถ เดินทางไปพักผ่อนไป แต่นักแข่งขันตีกลองก็กลับมาพักเพราะความเหนื่อย การแข่งขันกลองก็บังเอิญแพ้กลองของหมู่บ้านอื่น ก็เลยหมดกำลังใจก็ชวนกันนำกลองไปทิ้งลงแม่น้ำปาด แต่กลองดังกล่าวก็ไม่ได้ไหลไปไหน เพราะเป็นวังน้ำวน จึงตั้งชื่อหมู่บ้านจากบ้านไร่ เป็นหมู่บ้านวังกองตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ศักยภาพกลุ่มอาชีพทอผ้า
ชุมชนบ้านวังได้สืบทอดการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษที่อพยพมายาวนานมากกว่า 200 ปี ตั้งแต่ในอดีต โดยบรรพบุรุษชาวบ้านวังกอง อำเภอฟากท่าอพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง และมาตั้งหลักแหล่งอยู่ริมแม่น้ำปาดบริเวณตำบลฟากท่าและตำบลสองคอนในปัจจุบัน การทอผ้านั้นสืบเนื่องมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมที่คนโบราณนิยมทอผ้าใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะไม่มีผ้าสำเร็จรูปเหมือนปัจจุบัน ดังนั้น จึงเริ่มกันตั้งแต่ปลูกฝ้าย นำฝ้ายมาตาก ปั่นฝ้าย และนำมาทอใช้ ทั้งผ้าขาวม้า ผ้าถุง ผ้าตัดเสื้อ กางเกง ผ้าห่ม ถุงย่าม สไบห่ม เป็นต้น ลวดลายที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมานั้น ก็ล้วนมาจากวิถีชีวิตประจำวัน จารีต ประเพณีและวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตัวเอง รวมทั้งจากสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากการให้ข้อมูลในเรื่องมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายหลักฐาน มีการทอผ้าที่อายุเก่าแก่ มากกว่า 100 ปี เช่น ผ้าของคุณยาย หั่น เต๊ะหุม ที่มีผ้าล้อโบราณ (ผ้าสไบ) และหมอนขิดที่ใช้ในการประกอบพิธีแต่งงานโดยมีอัตลักษณ์ที่ฝีมือการทอผ้า และเนื้อผ้าละเอียดจากเทคนิคการทอใส่ใจในรายละเอียด โดยมีความแตกต่างจากผ้าทอที่อื่นอยู่ที่ลายตีนจก (โบราณ) มีลายพญานาคที่เป็นเอกลักษณ์ แฝงด้วยความเชื่อในเรื่องศิริมงคลที่ใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันผ้าสำเร็จรูปตลอดจนการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีความทันสมัยและเป็นที่นิยมมากขึ้น การนิยมใส่ผ้าทอจึงลดน้อยลงจะเหลือไว้เฉพาะในวันสำคัญ ทางศาสนา ประเพณีสำคัญๆ ของท้องถิ่นเท่านั้น ดังนั้นบ้านวังกอง จึงได้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ลวดลายผ้าโบราณ ให้คงเอกลักษณ์ไว้สืบสานต่อไปให้ยั่งยืน อีกทั้งยังมีการพัฒนาคุณภาพของผ้าให้ดียิ่งขึ้น และคิดค้นลวดลายใหม่ๆ ให้ผสมผสานกับของเดิม เพื่อให้ทันสมัยตามความต้องการของผู้บริโภคอีกอีกด้วย วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนชาวฟากท่า นิยมทอผ้าซิ่น ผ้าตีนจกพันก้อน นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประเพณีแห่ข้าวพันก้อน
ภาพที่ 1 แสดงต้นข้าวพันก้อนที่ชาวบ้านใช่แห่ในประเพณี
สำหรับประเพณีพันก้อนยังคงเป็นประเพณีที่สืบทอดจากอดีตจนถึงปัจจุบันโดยมีรายละเอียดเริ่มจากประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ในช่วงวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พวกชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่หนุ่มสาวทุกคนจะพากันไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด สรงน้ำพระสามเณร เสร็จแล้วก็ไปเข้าทรงปู่ตา ถามสารทุกข์สุขของชาวบ้าน หลังจากที่ถามเสร็จก็จะพากันแห่ปู่ตาไปรอบบ้านครบทุกบ้านเสร็จแล้วก็เชิญออกที่ศาล จากนั้นชาวบ้านก็จะพากันกินข้าวกินเหล้าตามบ้านเพื่อน ๆ ถึงตอนเย็นพวกหนุ่มสาวก็จะพากันทำต้นดอกไม้กัน จะทำต้นเดียวช่วยกันตกแต่งให้สวยงาม การทำต้นดอกไม้นั้น จะนำดอกไม้มาทำเป็นรูปต่าง ๆ แล้วแต่จะตกลงกันว่าจะทำเป็นรูปอะไรจะมีธูปเทียนใส่ไปด้วย พอค่ำลงหนุ่มสาวก็จะพากันแห่ต้นดอกไม้ไปวัด เมื่อไปถึงวัดก็จะแห่รอบวัด 3 รอบ คล้ายกับการเวียนเทียน ครบ 3 รอบแล้วจะนำไปบูชาพระพุทธรูป จากนั้นจะไปฟังเทศน์รับศีลรับพรจากพระสงฆ์แล้วแยกย้ายกันกลับบ้า จุดประสงค์ของการทำต้นดอกไม้เพื่อนำไปถวายสักการบูชาพระพุทธรูป ซึ่งการแห่ต้นดอกไม้นั้นจะแห่กันทุกวันจนกระทั่งได้มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปที่นำลงมาให้ชาวบ้านสรงน้ำนั้นขึ้นไปไว้บนวัดถึงจะเลิกแห่ บางครั้งทำกันครึ่งเดือนถึงจะเลิก วันสุดท้ายที่ทำบุญตักบาตรจะมีการแห่ “ต้นผึ้งหรือปราสาทผึ้ง” คือจะมีการนำเอาผึ้งเทียนมาทำเป็นรูปดอกไม้ แล้วนำไปติดกับต้นกล้วย จะช่วยกันทำทั้งหมู่บ้าน พอพลบค่ำชาวบ้านทุกคนก็จะพากันแห่ต้นผึ้งไปวัด พอไปถึงวัดก็แห่รอบวัด 3 รอบ จากนั้นก็นำขึ้นไปบูชาพระพุทธรูป พระสงฆ์จะให้ศีลให้พรและฟังเทศน์ พอเสร็จพิธีพวกหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะช่วยกันทำขนมทำกับข้าวกัน เพื่อให้พระฉันตอนเช้า ซึ่งจะพากันนอนที่วัดหมด ครั้นรุ่งเช้าก็จะแห่ “ต้นข้าวพันก้อน”
“การแห่ข้าวพันก้อน” การเอาข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นเป็นก้อนติดกับทางมะพร้าว 1 อันจะติดหลายจุดกะระยะให้สวยงาม จากนั้นนำมาเสียบกับต้นดอกไม้ โครงการต้นหญ้าคา) ลักษณะการแห่เหมือนการแห่ต้นดอกไม้แต่จะแห่กันตอนดึก ๆ หรือค่อนรุ่ง โดยประชาชน (คนหนุ่ม สาว คนแก่) กลุ่มหนึ่งที่อยู่วัด (เป็นกิจกรรมที่ร่วมกันทำอาหาร ในวัดของคนสมัยก่อนตอนดึกก็จะนึ่งข้าวเหนียวทำต้นข้าวพันก้อน และแห่ตามวันเวลาดังกล่าว) แห่เสร็จก็จะเอาไปถวายพระ เสร็จแล้วก็จะพากันแยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วนมากจะทำกันตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ หรือ 8 ค่ำ
ลวดลายบนผืนผ้าซิ่นจึงงดงามประณีตคงความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมเนื่องด้วยแฝงไปด้วยความเชื่อและความศรัทธา สำหรับกระบวนการวิธีการขั้นตอน เทคนิค ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาอาชีพ คือ วิธีการทอเริ่มจากนำด้ายไหมประดิษฐ์สีดำมาเป็นเส้นยืน ทอส่วยเชิงด้วยวิธีการจกด้วยมือเป็นลายนาคสร้อยด้วยด้ายสีต่างๆ เช่น สีเขียว น้ำตาลเข้ม ชมพูอ่อน ชมพูเข้ม สีครีม ส่วนบนผืนผ้าทอด้วยวิธีจกเป็นลายผ้าพันก้อนตลอดทั้งผืน ทั้งหมดนี้ ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันจากบรรพบุรุษ ที่นำเอาภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ ได้เล่าว่า ในสมัยโบราณ หญิงสาวในหมู่บ้านนิยมทอผ้า แล้วนำมาเย็บเป็นที่นอน เพื่อนำไปไหว้ผู้ใหญ่
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ มีความรักและหวงแหนในอาชีพการทอผ้า ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ นอกจากนั้นชาวบ้านผลิตผ้าที่ได้ออกมาสีสันสวยงาม มองเห็นเด่นชัดระยะใกล้-ไกล เส้นใยคงทนถาวร สีไม่ตก อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาคราชการ เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ และจังหวัด
นอกจากนั้นยังมีการทอผ้าขาวม้า โดยผ้าขาวม้าที่บ้านวังกอง จะเป็นการทอผ้าด้วยมือและมีคุณภาพ เมื่อเวลาอัดผ้ากาวจะรีดเรียบเป็นที่ถูกใจของลูกค้า จึงได้เตรียมอุปกรณ์ กระสวย กี่ และผ้าพร้อมด้ายในการขึ้นเครือ เพื่อทอออกมาเป็นผืน ผ้าทอมัดหมี่ เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอารยธรรมของคนในท้องถิ่นบ้านวังกอง ตำบลสองคอน อำเภอฟากท่า
ความสัมพันธ์ในชุมชน บ้านวังกองเป็นชุมชนเล็กๆ มีเพียง 89 ครัวเรือนเท่านั้น และกลุ่มทอผ้ามีสมาชิก จำนวน 25 คน ซึ่งสมาชิกในชุมชนมีอาชีพเกษตรกร แรกเริ่มนั้นการทอผ้าจะนิยมทอเพื่อใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ที่สืบทอดกันมาเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ สู่รุ่นลูกหลาน ต่อมาความเจริญทางด้านเศรษฐกิจมีมากขึ้น ช่วงเวลาหลังการเก็บเกี่ยว จึงมีการส่งเสริมให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเกิดอาชีพรองขึ้นมานั่น คือ การทอผ้า ซึ่งบ้านวังกอง ก็ได้มีการรวมกลุ่มกัน ผู้อาวุโสในหมู่บ้านก็จะมีการสอนรุ่นหลังต่อไป จนปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าบ้านวังกองเริ่มมีความเข้มแข็งขึ้น ก็เพราะสมาชิกในกลุ่มนั้นล้วนมีความสัมพันธ์เป็นเพื่อน ญาติ พี่น้อง ก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับชุมชน ทำให้คนในชุมชน สมาชิกในกลุ่ม เกิดความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน เกิดความซื่อสัตย์ เสียสละ มีความรับผิดชอบ มีความเห็นอกเห็นใจกัน เกิดความไว้วางใจ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมกันรับผลประโยชน์ อีกทั้งเป็นการกระจายรายได้ให้กับสมาชิก และกลุ่มได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทอผ้าซิ่นตีนจก และมีจิตวิญญาณอันเดียวกัน คือ ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานผ้าทอซิ่นตีนจกให้ คงเอกลักษณ์
ในส่วนของการบริหารจัดการกลุ่ม เมื่อ พ.ศ. 2542-2552 ตั้งกลุ่มสหกรณ์ นิคมฟากท่า ต่อมามีการจัดตั้งกลุ่ม กศน. การบริหารของบุคคลภายนอก ปัจจุบันมีเครือข่ายสนับสนุน จากพัฒนาชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์และ อบต. ในการอบรมทอผ้า การนำผ้าทอไปจำหน่ายที่เมืองทองและต่างจังหวัดโดยในนามตัวแทนชาวบ้าน คือ ประธาน/รองประธานกลุ่ม ไปศึกษาดูงาน และจดทะเบียนก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านวังกอง เมื่อปี พ.ศ. 2562
ลักษณะของการบริหารจัดการกลุ่ม
ชื่อวิสาหกิจชุมชน
ชื่อ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านวังกอง ตำบลสองคอน อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์
รหัสทะเบียน (รอเลขทะเบียนจากเกษตรอำเภอฟากท่า)
จดทะเบียนเมื่อวันที่ เมษายน 2561
ที่อยู่ปัจจุบัน
104 หมู่ 1 ตำบลสองคอน อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ 53160
ชื่อผู้เป็นผู้ดูแลของกลุ่ม
ชื่อ นางทองพันธุ์ เป็งมา อายุ 45ปี
เกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2517
จบการศึกษาระดับชั้นม.ปลาย
ที่อยู่ 73/1 ม.1 ต.สองคอน อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์
องค์ความรู้ สามารถทอผ้าลายนาค ผ้ามัดหมี่ และผ้าขาวม้า -สามารถแกะลายผ้าได้ด้วยตาเปล่าโดยระยะการทอผ้าแต่ละผืน เกือบครึ่งเดือน เพราะไม่ได้ทำตลอด ทำเฉพาะเวลาว่าง ราคา500บาท/ผืน